คลังบทความของบล็อก

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

ส่ง "มวยไทย" เข้า ครม. หวังปูทางสู่ "ระดับโลก

กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมชงเรื่องให้ ครม. รับรอง "กีฬามวยไทย" หวังสร้างความมั่นใจให้สมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ ที่กำลังจะรับรองกีฬามวยไทย พร้อมกับช่วยยกระดับให้เป็นสากลเหมือน "เทควันโด" ของเกาหลี
มวยไทย สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อผลักดัน สภามวยไทยโลก ให้ได้รับการรับรองจากสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ (จีเอไอเอสเอฟ) โดยหวังว่าจะเป็นบันไดก้าวแรก ที่จะผลักดันให้มีการบรรจุมวยไทยเข้าในการแข่งขันกีฬารายการต่างๆ อย่างเป็นทางการ อาทิ เอเชียนเกมส์ หรือกระทั่ง โอลิมปิกเกมส์

ทั้งนี้ "สภามวยไทยโลก (ดับเบิลยูเอ็มซี)" จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2538 โดยปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 110 ประเทศ โดยทำหน้าที่ส่งเสริมเผยแพร่ด้านการฝึกสอน รวมทั้งกำหนดระเบียบควบคุมการแข่งขันในทุกประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามกติกามาตรฐานที่ประกาศใช้โดยคณะกรรมการกีฬามวย ตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 นอกจากนี้ ยังเป็นองค์กรที่ดำเนินภารกิจร่วมกับ สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (ไอเอฟเอ็มเอ) ซึ่งเป็นองค์กรในระบบคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ที่ จีเอไอเอสเอฟ ให้การรับรองด้วย

ส่วนการที่ต้องเตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. ก็เนื่องจากในวันที่ 24 เมษายน 2548 นี้ "จีเอไอเอสเอฟ" มีกำหนดนำเรื่องกีฬามวยไทยเข้าสู่การพิจารณารับรองของที่ประชุมใหญ่ ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ดังนั้น การที่ไทยให้การรับรองด้วย จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับสมัชชาของจีเอไอเอสเอฟว่า กีฬามวยไทยได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างแท้จริง

สนธยา กล่าวว่า กีฬามวยไทยเป็นศิลปะการป้องกันตัวของไทยที่มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จนสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ได้กำหนดให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทศิลปวัฒนธรรมประจำชาติมาแล้ว แต่การจะให้กีฬามวยไทยแพร่หลายสู่การแข่งขันระดับสากลเทียบศักดิ์ศรีเท่ากับกีฬาประจำชาติอื่นๆ อย่างเช่น
  1. เทควันโด ของเกาหลี
  2. ยูโดและคาราเต้ ของญี่ปุ่น
  3. วูซู ของจีน
จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากจีเอไอเอสเอฟเป็นด่านแรก จึงจะได้รับอนุมัติให้บรรจุในการแข่งขันรายการต่างๆ นอกจากนั้น ในปัจจุบันมีปัญหาเกิดขึ้นกับกีฬามวยไทยหลายอย่าง หลังจากที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ก็มีบางองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยนำชื่อคนไทยหลายคนหลายระดับเข้าเป็นกรรมการโดยพลการ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์โดยรวมของการบริหารงาน ขณะที่การแข่งขันบางรายการของไทย ก็นำนักชกมวยไทยชาวต่างชาติที่ฝีมือไม่ได้มาตรฐานมาร่วมชก ซึ่งก็ถือเป็นการทำลายกีฬาชนิดนี้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีองค์กรกลางที่ได้รับการรับรอง เพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น